วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ผ่าฟันคุด

ฟันคุด คือ อะไร
 

ฟันคุด คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นได้ในช่องปาก อาจจะโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรทั้งซี่ ฟันซี่ที่พบว่าเป็นฟันคุดบ่อยที่สุด คือ ฟันกรามล่างซี่สุดท้าย ซึ่งอยู่ด้านในสุดของกระดูกขากรรไกรล่าง โดยปกติฟันซี่นี้ควรจะขึ้นในช่วงอายุ 18-25 ปี อาจโผล่ในลักษณะตั้งตรง เอียง หรือนอนในแนวราบ และมักจะอยู่ชิดกับฟันข้างเคียงเสมอ นอกจากนี้ฟันซี่อื่นๆ ก็อาจจะคุดได้ เช่น ฟันเขี้ยว ฟันกรามน้อย แต่พบได้น้อยกว่าฟันกรามล่างซี่สุดท้าย
 

จะทราบได้อย่างไรว่ามีฟันคุด

จากการตรวจในช่องปาก ถ้าพบว่าฟันซี่ใดโผล่มาได้เพียงบางส่วน หรือฟันซี่ใดหายไป ก็ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าน่าจะมีฟันคุด เพื่อให้แน่ใจก็ควรจะเอ็กซเรย์ดู ก็จะทำให้ทราบว่าฟันคุดฝังอยู่ตำแหน่งใดบ้าง การเอ็กซเรย์พานอรามิกจะเห็นฟันทั้งหมดในกระดูกขากรรไกรบนและล่าง รวมถึงพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในกระดูกขากรรไกร
 

ทำไมถึงต้องผ่าฟันคุด

o เพื่อป้องกันการอักเสบของเหงือกที่ปกคลุมฟัน เพราะจะมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือกแล้วไม่สามารถทำความสะอาดได้ เชื้อแบคทีเรียที่สะสมอยู่จะทำให้เหงือกอักเสบ ปวดบวมและเป็นหนอง ถ้าทิ้งไว้การอักเสบจะลุกลามไปใต้คาง หรือใต้ลิ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังส่วนอื่นๆของร่างกายได้ง่าย นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

 

o เพื่อป้องกันฟันข้างเคียง คือ การผุซอกฟันระหว่างฟันคุดกับฟันกรามที่2 ที่อยู่ข้างเคียงกันนั้น เนื่องจากทำความสะอาดได้ยาก ทำให้มีเศษอาหารเข้าไปติดค้างและเกิดฟันผุได้ทั้ง 2 ซี่

o เพื่อป้องกันการละลายตัวของกระดูก แรงดันจากฟันคุดที่ดันขึ้นมา สามารถทำให้กระดูกรอบรากฟัน หรือรากฟันข้างเคียงถูกทำลายไป

o เพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำหรือเนื้องอก ฟันคุดที่ทิ้งไว้นานไป เนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุดอาจจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำ แล้วโตขึ้นโดยไม่แสดงอาการเลย จนในที่สุดเกิดการทำลายฟันซี่ข้างเคียงและกระดูกรอบๆบริเวณนั้น

o เพื่อป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก จากการที่มีฟันคุดฝังอยู่ จะทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นบางกว่าตำแหน่งอื่นเกิดเป็นจุดอ่อนเมื่อได้รับอุบัติเหตุหรือกระทบกระแทก จะทำให้บริเวณนั้นหักได้ง่าย

o วัตถุประสงค์อื่นๆ เช่น ในการจัดฟัน ต้องถอนฟันกรามซี่ที่ 3 ออกก่อน เพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนฟันซี่อื่นๆ


ขั้นตอนการผ่าฟันคุด ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดนะคะ

เริ่มต้นจาก x-ray ดูฟันคุดซี่ที่ต้องการเอาออกก่อนค่ะ  จากนั้นคุณหมอจะทายาชาป้ายที่เหงือกก่อน เพื่อลดความเจ็บขณะฉีดยาชาเฉพาะที่ เมื่อชาแล้วก็จะไม่รู้สึกเจ็บขณะทำเลยค่ะ แค่จะรู้สึกตึงๆรั้งๆบ้างเท่านั้นเอง จากนั้นจะทำการผ่าเปิดเหงือก เพื่อให้เห็นฟันและใช้เครื่องมือกรอตัดฟันออกมา ล้างทำความสะอาด และเย็บปิดแผล

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด

1. กัดผ้าก๊อชให้แน่นพอสมควร ประมาณ 1-2 ชั่วโมง หรือจนกว่าจะหายชา เมื่อเลือดหยุดแล้วจึงคายผ้าก๊อชออก อย่ากัดผ้าก๊อชไว้ตลอดวันตลอดคืน
2. ถ้าเลือดไหลไม่หยุดให้กัดผ้าก๊อชที่สะอาดต่ออีก 1 ชั่วโมง และใช้น้ำแข็งห่อผ้าประคบนอกปาก ทำไมถึงต้องผ่าฟันคุด

3. ห้ามบ้วนปาก บ้วนน้ำลายตลอดวันที่ถอนฟัน ถ้ามีเลือดหรือน้ำลายไหลออกมา ให้กลืนลงคอ จะช่วยให้กัดผ้าก๊อชได้ดี เลือดจะหยุดเร็วขึ้น

4. ให้ใช้น้ำแข็งห่อผ้าประคบนอกปากตรงกับตำแหน่งแผลผ่าตัดฟันคุด เมื่อรู้สึกเย็นจัดหรือชาๆ ให้หยุดประคบ รอสักครู่แล้วค่อยเริ่มต้นประคบใหม่ อย่าประคบน้ำแข็งแช่อยู่ตลอดเวลา ประคบน้ำแข็งเป็นระยะๆ ประมาณ 15 นาที โดยทำในระหว่างที่ยังคงกัดผ้าก๊อชในปากอยู่ จะช่วยให้เลือดหยุดดีขึ้น ในวันรุ่งขึ้นให้ใช้น้ำอุ่นประคบนอกปากเป็นระยะ ๆ ตลอดวัน จะช่วยบรรเทาอาการบวมลงได้

5. ขณะที่ยังชาอยู่ ระวังอย่าขบริมฝีปากเล่น จะทำให้เกิดแผลได้ อาการปวดและบวมด้านที่ทำการผ่าฟันคุดสัก 2-3 วันและอ้าปากได้น้อยลง ซึงสามารถบรรเทาได้โดยการรับประทานยาแก้ปวด การรับประทานอาหาร ควรรับประทานอาหารอ่อนระยะหนึ่ง เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนต่อแผล ผู้ป่วยสามารถพูดคุยได้ตามปกติ

6. ห้ามบ้วนน้ำ หรือน้ำยาบ้วนปากใดๆ ใน 1-2 วันแรก เพราะจะทำให้ก้อนเลือดที่แผลถอนฟันหลุดออก และเกิดกระดูกเบ้าฟันอักเสบ โดยมีอาการปวดแผลตื้อๆ อยู่ตลอดเวลา ในวันต่อมาอาจใช้น้ำยาบ้านปาก หรือน้ำเกลืออุ่น (น้ำอุ่น 1 แก้วผสมกับเกลือแกง 1/2 ช้อนชา) บ้วนปากเบาๆ โดยเฉพาะภายหลังรับประทานอาหารได้

7. ให้แปรงฟันทำความสะอาดช่องปากตามปกติ เพียงแต่ระมัดระวังแผลผ่าตัดหรือถอนฟัน


8. ถ้ามีอาการปวดแผลถอนฟัน ให้รับประทานยาแก้ปวดครั้งละ 1-2 เม็ด ถ้าอาการปวดไม่หายให้รับประทานยาแก้ปวดซ้ำอีก แต่ควรจะห่างกัน 4 ชั่วโมง การรับประทานยามากกว่ากำหนด เพียงหวังผลให้หายเร็วนั้น อาจเป็นอันตรายได้ ในกรณีที่ทันตแพทย์สั่งจ่ายยาแก้อักเสบให้ ต้องรับปะทานตามกำหนดเวลาจนกว่ายาจะหมด เพื่อให้ผลในการรักษาการติดเชื้อ และป้องกันไม่ให้เกิดอาการดื้อยา


9. ห้ามเอานิ้วมือ ไม้จิ้มฟันแคะเขี่ยบริเวณแผลถอนฟัน และห้ามดูดแผลเล่น


10. ทำงานประจำได้ตามปกติ แต่อย่าออกกำลังกาย เล่นกีฬา หรือทำงานที่ใช้กำลังมากๆ เกินควร


11. ควรรับประทานอาหารอ่อน รสไม่จัด ควรดื่มนมจากแก้วมากกว่าการใช้หลอดดูด การใช้หลอดดูดจะทำให้ก้อนเลือดในแผลหลุดออกและปวดแผลได้ ห้ามสูบบุหรี่ ดื่มสุรา เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดจัด หรือร้อนจัด

12. ในกรณีแผลผ่าตัด แผลฟันคุด ที่เย็บแผลไว้ ควรกลับมาตรวจดูแผลและตัดไหมภายหลังประมาณ 5-7 วัน

13. ถ้าเลือดออกไม่หยุด หรือมีอาการปวด-บวมผิดปกติ ควรติดต่อทางคลินิกฯ และรีบกลับมาพบแพทย์ทันที

14. เมื่อถอนฟันไปแล้ว ควรรอแผลหายและเหงือกยุบตัวเต็มที่ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ และควรปรึกษาทันตแพทย์ว่าสมควรต้องใส่ฟันปลอมทดแทนช่องว่างของฟันซี่ที่ถอนไปหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์
  - ป้องกันฟันข้างเคียงล้มเข้าหาช่องว่าง
  - ป้องกันฟันคู่สบยื่นยาวลงมาสู่ช่องว่าง 
  - เพื่อประสิทธิภาพของการบดเคี้ยวเท่าเดิม หรือใกล้เคียง
  - เพื่อความสวยงามและสร้างเสริมบุคลิกภาพ
  - ช่วยในการออกเสียงได้ชัดเจน
  - ภาวะแทรกซ้อนจาการผ่าตัดฟันคุด

1 ความคิดเห็น:

  1. ได้ความรู้จาก Blog นี้มากเลยค่ะ ยังงี้ไม่กลัวคุณหมอฟันแล้ว รักษาไว้ก่อนที่จะเป็นปัญหาใหญ่ในภายหลัง

    ตอบลบ